ในสภาวะที่ต้องเผชิญกับวิกฤตการณ์หลาย ๆ ด้านในเวลาเดียวกันทั้งเรื่องของการเมือง เศรษฐกิจ และสังคม ภาวะเช่นนี้ทำให้เกิดปัญหาที่มีผลกระทบต่อบุคคลในทุกระดับของสังคม ปัญหาส่วนใหญ่เกิดจากการที่บุคคลหรือกลุ่มคน ยึดถือและเห็นแก่ประโยชน์ส่วนตนหรือของกลุ่มเหนือผลประโยชน์ส่วนรวม นำมาสู่การเผชิญหน้า ต่อสู้ แย่งชิง ครอบงำผู้อื่นทำให้สภาพสังคมปราศจากความสงบ มีผลกระทบไปถึงการดำเนินชีวิตของคนในสังคมอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ อันเป็นสภาพที่ชินชาไปแล้วสำหรับสังคมไทย ในฐานะคนไทยคนหนึ่งควรจะต้องรู้ว่าจะดำเนินชีวิตอย่างไรถึงจะอยู่ในสังคมนี้ได้โดยมีผลกระทบน้อยที่สุด หนังสือ "ธรรมะกับการเมืองของพุทธทาสภิกขุ" เล่มนี้ เป็นการแสดงทรรศนะเกี่ยวกับเรื่องการเมืองที่ต้องสัมพันธ์กับธรรมะของท่านอาจารย์พุทธทาสภิกขุ พระมหาเถระผู้เป็นนักปราชญ์ที่สำคัญคนหนึ่งของสังคมไทย
"เราเป็นคนคนหนึ่งในโลก ก็ต้องสนใจเรื่องของโลก ซึ่งมันเกี่ยวมาถึงตัวเรา เราควรจะถือว่า ประชาชนทุกคนเป็นนักการเมือง ทุกคนมันเป็นนักการเมืองอยู่โดยความรู้สึก" หากเข้าใจพื้นฐานของการเมืองในลักษณะนี้แม้แต่พระก็ต้องเกี่ยวข้องกับการเมือง แต่มิใช่การเมืองที่ "หมายถึงการต่อสู้ทางการเมือง ของพวกนักการเมืองที่เขาต่อสู้เพื่อประโยชน์ของคนแต่ละคน แต่ละพวก ถ้าอย่างนี้แล้ว พระอย่าไปเกี่ยวข้องเลย"
1. บทนำ
2. ท่าทีพื้นฐานต่อการเมือง
3. ความหมายและความเป็นมาของการเมือง
4. ระบบและองค์ประกอบของการเมือง
5. บทสรุป