ความสนใจที่จะศึกษาเรื่องรัฐธรรมนูญกับการพัฒนาการทางการเมืองในหนังสือเรื่องนี้ มีวัตถุประสงค์ที่จะศึกษาเพื่อความเข้าใจภาวะการเมืองไทยที่มีการเปลี่ยนแปลงในระยะเวลที่ผ่านมาตลอดทั้งเจ็ดสิบกว่าปี
การศึกษาเรื่องรัฐธรรมนูญในเมืองไทยนั้นได้มีมานานแล้วถ้าหากคิดตั้งแต่เวลาเปลี่ยนแปลงการปกครองแผ่นดิน พ.ศ.2475 เป็นต้นมา แต่กระนั้นการศึกษาก็จะอยู่ที่แง่มุมทางกฎหมายมากกว่าแง่มุมทางการเมือง และมีส่วนน้อยมากที่จะศึกษาถึงความสัมพันธ์กับการพัฒนาการเมืองของไทย ทั้ง ๆ ที่การเมืองเรื่องของรัฐธรรมนูญนั้นเป็นเรื่องที่ควรจะต้องศึกษากันให้รอบด้าน เพราะรัฐธรรมนูญได้รับการยกย่อง และยอมรับทั้งโดยนักวิชาการทางด้านรัฐศาสตร์และนิติศาสตร์ว่าเป็นหลักของการปกครองแผ่นดิน เป็นแม่บทกฎหมายที่เป็นกติกาการเมืองของสังคม ทั้งนี้ไม่ว่าจะเป็นรัฐธรรมนูญที่เขียนเป็นลายลักษณ์อักษร หรือรัฐธรรมนูญจารีตประเพณี
จากความเห็นโดยทั่ว ๆ ไป และจากนักวิชาการที่เกี่ยวข้อง ประกอบกับความเคยชินในการอ้างอิงตัวบทกฎหมายเป็นหลัก ในการดำเนินกิจการสาธารณะในสังคมไทยประกอบกัน ทำให้เชื่อได้ว่ารัฐธรรมนูญลายลักษณ์อักษรจะเป็นเกณฑ์สำคัญทางการเมือง ฉะนั้นการที่จะเข้าใจลักษณะการปกครองและรูปแบบของรัฐบาลในแต่ละยุคแต่ละสมัย จึงควรที่จะดูจากตัวรัฐธรรมนูญที่บังคับใช้อยู่ในแต่ละสมัย เจตจำนงที่เด่นชัดมักปรากฏในตัวรัฐธรรมนูญ การดูอย่างนี้เป็นการดูการเมืองตามนัยของรัฐธรรมนูญ
- บทที่ 1 รัฐธรรมนูญกับการพัฒนาการเมือง
- บทที่ 2 แนวคิดประชาธิปไตยของไทยที่กำหนดในรัฐธรรมนูญฉบับแรก
- บทที่ 3 สถาบันและกิจกรรมการเมืองใหม่ที่ปรากฏตามรัฐธรรมนูญ
- บทที่ 4 การเมืองตามนัยรัฐธรรมนูญฉบับถาวรฉบับแรก (10 ธ.ค. 2475)
- บทที่ 5 รัฐธรรมนูญถูกใช้เป็นเครื่องมือของเผด็จการ
- บทที่ 6 การเมืองที่ปรับเปลี่ยนไปตามนัยของรัฐธรรมนูญ
- บทที่ 7 การปฎิวัติรัฐธรรมนูญ
- บทที่ 8 การเปลี่ยนแปลงตามรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2540
- บทที่ 9 สรุป