เราอยู่ในห้วงเวลาที่ "จริยธรรม" ถูกท้าทายมากที่สุด แต่ก็จำเป็นที่สุดเช่นกัน
จริยธรรมไม่ใช่ความดีงามอันสัมบูรณ์ตายตัว ไม่ใช่อุดมคติที่ลอยอยู่เหนือความเป็นจริง และไม่ใช่เครื่องมือปิดกั้นความเห็นต่าง ซึ่งล่วงละเมิดเสรีภาพและความหลากหลาย แต่จริยธรรมคือหลักกำกับชีวิตส่วนตัวและชีวิตของสังคม ที่ช่วยตรึงเราไว้ไม่ให้หลุดจากความเป็นมนุษย์ และตัดสินใจเลือกทางที่ทำให้เราภูมิใจได้ทั้งในปัจจุบันและอนาคต
ยิ่งโลกใหม่เต็มไปด้วยวิกฤตและความคลุมเครือไม่แน่นอน เช่น โลกรวน ข่าวลวง โรคระบาด ความเสี่ยงจากเทคโนโลยีใหม่ ภัยสงคราม และแนวคิดสุดโต่งทางการเมือง เรายิ่งต้องเผชิญหน้ากับโจทย์จริยธรรมใหม่ๆ มากมายที่พาเราไปอยู่บน "เส้นขอบจริยธรรม" ซึ่งเป็นพรมแดนที่กฎหมายตามไม่ทัน คุ้มครองเราไม่ได้ เหลือเพียงแต่ "จริยธรรม" เป็นเครื่องนำทาง
ซูซาน ลีโอโตด์ ผู้สอนวิชา จริยธรรมบนเส้นขอบ (Ethics on the Edge) แห่งมหาวิทยาลัยสแตนฟอร์ด ชวนผู้อ่านมาสนุกตื่นเต้นกับการถกเถียงปัญหาจริยธรรมร่วมสมัย ที่ไปไกลกว่าวิธีคิดสองขั้ว (ถูก-ผิด / ขาว-ดำ) ด้วยกรอบคิด "บันไดสี่ขั้น" และ "แรงขับหกประการ" ซึ่งช่วยให้เราตัดสินใจในประเด็น "สีเทา" ได้อย่างรอบด้านและเป็นธรรม ผ่านเคสท้าทายความคิด
นี่คือหนังสือเปิดสมองและหัวใจแห่งยุคสมัย ที่นำเสนอวิถีการหลอมรวมหลักจริยธรรมเข้าเป็นส่วนหนึ่งของการตัดสินใจ ทำให้จริยธรรมเป็นเรื่องของทุกคน เป็นประชาธิปไตย ตอบโจทย์โลกความเป็นจริง และสร้างพลังการเปลี่ยนแปลงเชิงบวกให้เราตัดสินใจได้ดีขึ้น เป็นคนที่ดีขึ้น และร่วมสร้างโลกที่ดีขึ้น
บทนำ เส้นขอบจริยธรรม
บทที่หนึ่ง วิธีคิดสองขั้วที่ต้องเลิกละ
บทที่สอง อำนาจที่กระจัดกระจาย
บทที่สาม การระบาดลุกลาม
บทที่สี่ เสาหลักที่ผุกร่อน
บทที่ห้า ขอบเขตที่พร่าเลือน
บทที่หก ความจริงที่ไม่จริงแท้
บทที่เจ็ด จริยธรรมปุบปับฉับไว
บทที่แปด ล้มแล้วลุก ลุกแล้วฟื้น
บทส่งท้าย จริยธรรมบนเส้นขอบของวันพรุ่งนี้