มายาคติมากมายที่ครอบความคิดเราที่มีต่อ "ความจน" และ "คนจน" ว่าคนจนต้องเป็นอย่างนั้นอย่างนี้ คนจนไม่มีทางเลือก คนจนไม่คิดถึงอนาคต คนจนทำอะไรไม่มีเหตุผล ฯลฯ รวมถึงนโยบายต่างๆ ที่ออกมาเพื่อช่วยเหลือคนจน ที่ส่วนใหญ่มักจะเป็นการมองคนจนจากบนลงล่าง ไม่ได้เข้าใจสิ่งที่เกิดขึ้นจริงๆ ทำให้การแก้ปัญหาไม่ตรงจุดเท่าที่ควร แล้วทำเราจะทำอย่างไรให้คนจนสามารถก้าวผ่านความจนไปได้?
เริ่มจากการลบมายาคติเหล่านี้ออกไป ซึ่งในบางครั้งสิ่งที่บังตาเราอยู่อาจไม่ได้เกิดจากอคติหรือความเกลียดชัง แต่อาจเกิดจากการที่เรายังไม่ได้ทำความเข้าใจพวกเขาดีพอ ดังนั้น ความเข้าใจจึงเป็นสิ่งสำคัญ
"อภิชิต เบเนอร์จี" และ "เอสแตร์ ดูโฟล" สองนักเศรษฐศาสตร์รางวัลโนเบลปี 2019 ที่ได้ลงพื้นที่ไปทำงานกับคนจนทั่วโลก นำงานวิจัยทั้งของพวกเขาเองและของนักวิจัยคนอื่นๆ มาร้อยเรียงเป็นหนังสือ "เศรษฐศาสตร์ความจน" ผ่านการคิดวิเคราะห์ หลักฐานเชิงประจักษ์ และการทดลองที่รัดกุม เพื่อทำความเข้าใจตั้งแต่เรื่องแรงจูงใจ พฤติกรรม ไปจนถึงการตัดสินใจของคนจนต่อเรื่องต่างๆ ในชีวิตประจำวัน ทั้งเรื่องการเลือกอาหาร เรื่องสุขภาพ เรื่องการศึกษา เรื่องการออมเงิน ฯลฯ ทุกๆ มิติทางสังคมที่กล่าวถึงในหนังสือเล่มนี้ ล้วนเป็นเรื่องราวทั่วไปที่ทุกคนต้องพบเจอในชีวิต ยิ่งตอกย้ำทำให้เห็นชัดเจนว่า เราทุกคนต่างก็เป็นมนุษย์เหมือนกัน คนจนก็เป็นมนุษย์เหมือนกัน เพียงแต่ว่าเงื่อนไขและปัจจัยที่เราต้องเจอนั้นแตกต่างกัน ทำให้เราตัดสินใจต่างกันเท่านั้นเอง
และไม่ว่าคุณจะเป็นผู้ดำเนินนโยบาย เป็นนักการเมือง หรือเป็นคนธรรมดาทั่วไป ที่ไม่ได้ข้องเกี่ยวกับธุรกิจใดเลยก็ตาม บทเรียนจากทั่วโลกโดยนักเศรษฐศาสตร์รางวัลโนเบลนี้ จะทำให้เราเข้าใจสถานการณ์ เข้าใจวิธีคิด วิธีมองโลกของคนจนมากขึ้น และจะไม่ตกอยู่ภายใต้วาทกรรม คนจนขี้เกียจ โง่จนเจ็บ ไม่มีมายาคติที่บังตาเกี่ยวกับความจนและคนจนอีกต่อไป
1 คิดอีกที...อีกสักที
- ภาค 1 ชีวิตส่วนตัว
2 มีคนอดอยากเป็นพันล้านคนจริงหรือ
3 จะเสริมสร้างสุขภาพ (ระดับโลก) ได้ง่ายๆ หรือ
4 ที่หนึ่งของห้อง
5 ครอบครัวใหญ่ของปักซูดาร์โน
- ภาค 2 สถาบัน
6 ผู้จัดการเฮดจ์ฟันเท้าเปล่า
7 ชายจากคาบูลและขันทีอินเดีย : เศรษฐศาสตร์ที่ไม่กล้วยของการปล่อยกู้ให้คนจน
8 เก็บเล็กผสมน้อย
9 ผู้ประกอบการแบบไม่สมัครใจ
10 นโยบายและการเมือง
หนังสือเล่มนี้ไม่เพียงนำเสนอวิธีทำการวิจัยใหม่ซึ่งร่วมบุกเบิกโดย อภิชิต บาเนอร์จี และเอสแตร์ ดูโฟล นักเศรษฐศาสตร์ชั้นนำระดับโลก แต่ยังช่วยเปลี่ยนความเข้าใจว่า คนจนก็มีเหตุมีผลเหมือนพวกเราทุกคน เพียงแต่พวกเขามีบริบทที่แตกต่างจากเรา และหากเราต้องการแก้ไขปัญหาความยากจนให้สำเร็จแล้ว เราก็จำเป็นต้องมีความเข้าอกเข้าใจต่อคนจนอย่างแท้จริง
-- ดร.สมเกียรติ ตั้งกิจวานิชย์ --
ประธานสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ)
หนังสือเล่มนี้จะช่วยให้มุมมองและหลักคิดดีๆ แก่คนไทยที่เป็นผู้กำหนดนโยบายและคนทำงานเกี่ยวกับการแก้ไขปัญหาความยากจน ถ้าได้อ่านกันอย่างกว้างขวางแล้ว ผมเชื่อว่านโยบายและแนวทางการแก้ไขปัญหาความยากจนในประเทศไทยจะเอาประชาชนเป็นศูนย์กลางมากขึ้น เท่าทันกับความซับซ้อนและความแตกต่างของปัญหาความยากจนในแต่ละพื้นที่ และที่สำคัญเราอาจจะหลุดออกจากกับดักความเชื่อหลายอย่างที่สืบทอดกันมานาน และสามารถช่วยให้ประชาชนหลุดออกจากกับดักความยากจนได้อย่างแท้จริง
-- ดร.วิรไท สันติประภพ --
ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย คนที่ 20