เป็นเวลากว่าสามทศวรรษที่เสรีนิยมใหม่ (Neoliberalism) เผยตัวขึ้นมาบนโลกและได้กลายเป็น "อุดมการณ์" อันยิ่งใหญ่ที่ครอบงำวิธีคิดในการออกแบบโครงสร้างทางเศรษฐกิจและการเมืองเหนืออุดมการณ์ใดๆ บางคนมองมันเป็นความหวังที่ช่วยเร่งเครื่องเศรษฐกิจและฉุดผู้คนออกจากความยากจน ทว่าบางส่วนมองว่าเป็นตัวการแห่งความเหลื่อมล้ำทั้งในประเทศและในระดับโลก แท้จริงแล้วเสรีนิยมใหม่ส่งผลอย่างไรต่อเรากันแน่?
"เสรีนิยมใหม่ : ความรู้ฉบับพกพา" โดย "แมนเฟร็ด สเตเกอร์" และ "รวี รอย" สองศาสตราจารย์จากมหาวิทยาลัย RMIT จะเผยถึงจุดกำเนิดของเสรีนิยมใหม่ทั้งในทางวิชาการและทางการเมือง ผ่านคลื่นแห่งการเปิดเสรีลูกแรกสมัย โรนัลด์ เรแกน กับ มาร์กาเรต แธตเชอร์ และคลื่นลูกที่สองในยุคของ บิล คลินตัน กับ โทนี แบลร์ เจาะลึกถึงนโยบายแบบเสรีนิยมใหม่ทั้งการเปิดเสรี การผ่อนปรนกฎเกณฑ์ และการแปรรูปรัฐวิสาหกิจ รวมถึงผลกระทบทางการเมือง เศรษฐกิจ และสังคม ที่มันทิ้งไว้ในหลายประเทศ เช่น จีน ญี่ปุ่น เม็กซิโก ชิลี และกานา นอกจากนั้น ทั้งสองยังวิเคราะห์วิกฤตการเงินโลกในปี 2007-2008 ที่ทำให้เศรษฐกิจทั่วโลกแทบหยุดชะงัก ในฐานะผลพวงหนึ่งของเสรีนิยมใหม่ด้วย
หนังสือเล่มนี้ให้อรรถาธิบายถึงเสรีนิยมใหม่ได้อย่างกระชับรอบด้าน ทั้งในมิติของอุดมการณ์ รูปแบบการอภิบาล และชุดนโยบาย ซึ่งจะช่วยให้เราเข้าใจถึงแนวคิดที่สำคัญที่สุดในโลกสมัยใหม่นี้ ไม่ว่าจะเป็นความหวังหรือปีศาจร้ายก็ตาม
1. เสรีนิยม "ใหม่" ที่ตรงไหน? ลัทธิเสรีนิยมเก่าและใหม่
2. คลื่นลูกแรกของเสรีนิยมใหม่ในทศวรรษ 1980 เรแกนโนมิกส์และลัทธิแธตเชอร์
3. คลื่นลูกที่สองของลัทธิเสรีนิยมใหม่ในทศวรรษ 1990 ลัทธฺตลาดโลกนิยมของคลินตันและหนทางที่สามของแบลร์
4. ลัทธิเสรีนิยมใหม่และการพัฒนาในเอเชีย
5. ลัทธิเสรีนิยมใหม่ในลาตินอเมริกาและแอฟริกา
6. วิกฤตของลัทธิเสรีนิยมใหม่ในช่วงทศวรรษ 2000 และหลังจากนั้น