ประเทศทั่วโลกต่างเห็นพ้องต้องกันว่าคอร์รัปชันคือปัญหาอันดับต้นๆ ซึ่งส่งผลกระทบเชิงลบในหลากหลายมิติ ทั้งด้านเศรษฐกิจ การเมือง สังคม สิ่งแวดล้อม และความมั่นคง ทว่าคอร์รัปชันคืออะไรกันแน่? เหตุใดจึงเกิดคอร์รัปชันขึ้นในสังคม? อะไรคือสิ่งที่จะใช้ชี้วัดคอร์รัปชัน? แล้วเราจะจัดการกับปัญหานี้ได้อย่างไร?
"คอร์รัปชัน: ความรู้ฉบับพกพา" โดย "เลสลี โฮล์มส์" ศาสตราจารย์ด้านรัฐศาสตร์แห่งมหาวิทยาลัยเมลเบิร์นและที่ปรึกษาด้านคอร์รัปชันของธนาคารโลกและองค์กรเพื่อความโปร่งใสสากล จะช่วยตอบคำถามข้างต้น พร้อมฉายภาพให้เห็นความซับซ้อนของคอร์รัปชันที่แตกต่างกันในหลากหลายวัฒนธรรม เช่น การสร้างเครือข่ายแบบอเมริกันและความสัมพันธ์ต่างตอบแทนแบบจีนกับรัสเซีย รวมถึงมุ่งไขคำตอบในประเด็นที่น่าสนใจ เช่น คอร์รัปชันมีความสัมพันธ์อย่างไรกับประชาธิปไตย? หรือมันส่งผลต่อความกินดีอยู่ดีของคนในชาติอย่างไร? โดยอาศัยงานศึกษาเชิงประจักษ์ที่เชื่อถือได้เป็นเครื่องมือ หนังสือเล่มนี้ไม่เพียงแต่ช่วยให้เราเข้าใจคำว่า "คอร์รัปชัน" อย่างถ่องแท้ผ่านแว่นตาของศาสตร์อันหลากหลาย อาทิ เศรษฐศาสตร์ นิติศาสตร์ รัฐศาสตร์ จิตวิทยา สังคมวิทยาและมานุษยวิทยา แต่ยังนำเสนอวิธีการต่อสู้เชิงรูปธรรมของหน่วยงานต่างๆ ทั่วโลก ตั้งแต่องค์กรท้องถิ่นไปจนถึงองค์การระหว่างประเทศอย่างธนาคารโลก ซึ่งอาจช่วยชี้ทางไปสู่การแก้ไขปัญหาที่คอยกัดกินสังคมนี้ให้เกิดผลสัมฤทธิ์จริงในที่สุด
1. คอร์รัปชันคืออะไร?
2. เหตุใดคอร์รัปชันจึงเป็นปัญหา
3. คอร์รัปชันวัดได้หรือไม่?
4. คำอธิบายเชิงจิตวิทยา-สังคม และคำอธิบายเชิงวัฒนธรรม
5. คำอธิบายที่เชื่อมโยงกับระบบ
6. รัฐทำอะไรได้บ้าง?
7. ใครทำอะไรได้อีกบ้าง?
- หนังสืออ่านเพิ่มเติม