แม้โลกจะยกย่องเรื่อง "สามก๊กของจีน" เป็นผลิตกรรมอันยิ่งใหญ่จากปลายปากกาที่ควรอ่านอย่างยิ่งยวด แต่ทว่ามีตัวเอกและตัวรอง ตลอดจนสถานที่มากมายจนจำไม่หวาดไหว ถึงจะอ่านอย่างตั้งสมาธิสามสี่จบ ก็ยังจับต้นชนปลายไม่ถูกและอาจลืมเลือนได้ง่าย
"สามก๊กฉบับวณิพก" จะช่วยคลี่คลายให้เข้าใจถึงเนื้อหาได้ดียิ่งขึ้น โดยหยิบยกตัวเอกมาเล่าไปตามลำดับตั้งแต่ต้นจนกระทั่งเสียชีวิตอย่างต่อเนื่องกัน ซึ่งไม่เคยมีใครทำมาก่อน แม้คณะกรรมการวรรณคดีสโมสรในรัชกาลที่ 6 ยกย่อง "สามก๊กของไทย" หรือ "สามก๊กฉบับเจ้าพระยาพระคลัง (หน)" ว่าเป็น "ยอดความเรียงเรื่องนิทาน" เพราะใช้ภาษาได้รัดกุมและกระชับ มีความเป็นเลิศอยู่ที่สำนวนภาษาอันถือเป็นแบบอย่างของสำนวนไทยแท้ มิใช่อยู่ที่เนื้อเรื่อง เพราะได้ตัดทอนในการแปลจึงไม่สมบูรณ์แบบตามต้นฉบับภาษาจีน ทำให้อ่านเข้าใจได้ยาก
"สามก๊กฉบับวณิพก"
- ได้แต่งเติมเสริมต่อส่วนที่ขาดหาย และแก้ไขข้อผิดพลาดเกี่ยวกับตัวละครให้เข้าใจได้กระจ่างชัด และสมบูรณ์ตามต้นฉบับภาษาจีนมากขึ้น
- ได้ขยายความพรรณนาเรื่องธรรมชาติความงามของสตรี และความไพเราะของบทร้อยกรองที่ละเว้นไป ทำให้การอ่านได้รับความซาบซึ้งในอรรถรสอย่างรื่นรมย์
- ได้ริเริ่มการตั้งสมญานามให้กับตัวเอก เช่น กวนอู-"เทพเจ้าแห่งความซื่อสัตย์" จิวยี่-"ผู้ถ่มน้ำลายรดฟ้า" ขงเบ้ง-"ผู้หยั่งรู้ดินฟ้ามหาสมุทร" ฯลฯ จนจดจำต่อมาและเรียกกันได้ติดปาก
- ได้จุดประกายการสืบค้นข้อผิดพลาดในการแปลอย่างจริงจังเป็นครั้งแรก สร้างแรงบันดาลใจให้เกิดวัฒนธรรมการวิพากษ์วิจารณ์งานวรรณกรรมอย่างกว้างขวาง จนก่อให้เกิดสามก๊กฉบับใหม่ ๆ ในหลาย รูปแบบตามมาอีกมากมาย