"สวทช. คิดค้น ชุมชนเข้มแข็ง" เล่มนี้ สะท้อนเรื่องราวของวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีกับการพัฒนาชุมชนให้เข้มแข็ง ภายใต้การดำเนินงานของสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) และพันธมิตรเครือข่ายผ่านประสบการณ์ใน 4 พื้นที่ ที่ได้รับคัดเลือกเป็นหมู่บ้านแม่ข่ายวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ในแต่ละพื้นที่มีเรื่องราวและวิถีชุมชนที่เป็นเอกลักษณ์เฉพาะตัว การนำวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีเข้าไปในพื้นที่ จำเป็นต้องคำนึงถึงฐานเดิม ปัจจัยที่อยู่แวดล้อมและความต่อเนื่องในการทำงาน
"บ้านผาคับ จังหวัดน่าน" พื้นที่สูงท่ามกลางหุบเขา ได้รับการถ่ายทอดเทคโนโลยีปลูกข้าวสาลีเพื่อเป็นอาชีพหลังการทำนา สร้างรายได้เสริม และกระตุ้นให้คนในชุมชนนำความรู้วิทยาศาสตร์ไปใช้
"บ้านบ่อเหมืองน้อย-ห้วยน้ำผัก จังหวัดเลย" พื้นที่ติดชายแดนไทย-ลาวได้รับการส่งเสริมปลูกพืชผักเมืองหนาว สตรอว์เบอร์รี่และมะคาเดเมีย จนยกระดับเป็นผลิตภัณฑ์ชุมชนที่ได้มาตรฐาน สร้างรายได้ให้คนในชุมชนและส่งเสริมการท่องเที่ยวในพื้นที่
"บ้านอุดม-สมบูรณ์ จังหวัดสุรินทร์" พื้นที่แดนอีสาน มีป่าหัวไร่ปลายนาเป็นแหล่งอาหารและพลังงานของชุมชน การสร้างจิตสำนึกรักษ์และรู้จักใช้พลังงานที่เหมาะสมย่อมทำให้ป่ามีความยั่งยืน
"บ้านบาลา-เจ๊ะเด็ง จังหวัดนราธิวาส" พื้นที่ชายแดนใต้ติดผืนป่าฮาลา-บาลา มีความหลากหลายของพันธุ์พืชและสัตว์ป่า งานอนุรักษ์และใช้ประโยชน์จากทรัพยากรในพื้นที่เป็นภาพสะท้อนของการทำงานร่วมกันระหว่างนักวิชาการ คนในชุมชน เด็กและเยาวชน โดยมุ่งหวังให้เกิดการถ่ายทอดความรู้จากรุ่นสู่รุ่น
นอกจากนี้ในช่วงท้ายเล่มยังมีเสียงสะท้อนจากเกษตรกร "บ้านหนองมัง จังหวัดอุบลราชธานี" มาบอกเล่าความสำเร็จของหมู่บ้านเกษตรกรอินทรีย์ หลังจาก สวทช. นำวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีเข้าไปถ่ายทอดในชุมชน!
- ปลูกฝังปัญญา พัฒนาชุมชนด้วยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี
- "ชุมชนเขา ทุ่งข้าวสาลี" หมู่บ้านผาคับ จังหวัดน่าน
- "เก็บสตรอว์เบอร์รี่ ชิมมะคาเดเมีย" หมู่บ้านบ่อเหมืองน้อยและห้วยน้ำพัก จังหวัดเลย
- ท่องป่าแดนอีสาน ชมหมู่บ้านพลังงาน "อุดม-สมบูรณ์" จังหวัดสุรินทร์
- บุกพงไพรแห่งบาลา ชม "หมู่บ้านดาหลา" บ้านบาลาและเจ๊ะเด็ง จังหวัดนราธิวาส
- เสียงสะท้อนความสำเร็จ