เริ่มต้นที่ "เฒ่าเมเจอร์" หมูอาวุโสในฟาร์มแมนเนอร์ เล่าถึงความฝันและวันที่มนุษย์จบสิ้น มันปลุกระดมให้เหล่าสัตว์ลุกขึ้นต่อต้าน "นายโจนส์" เจ้าของฟาร์ม ผู้เอารัดเอาเปรียบสัตว์เพื่อสร้างสังคมอุดมคติ ซึ่งสัตว์ทุกตัวจะแบ่งผลประโยชน์กันอย่างยุติธรรม ทว่าเมื่อปฏิวัติสำเร็จ สถานการณ์ในฟาร์มกลับเลวร้ายยิ่งกว่าเดิม!
"Animal Farm : A Fairy Story การเมืองของสัตว์" วรรณกรรมเสียดสีการเมืองชิ้นเอกที่ "ต้องอ่าน" เป็นที่นิยมจนแปลไปหลายสิบภาษาทั่วโลก ผลงานของ George Orwell ตีพิมพ์ครั้งแรกใน พ.ศ. 2488 ว่าด้วยเรื่องราวเสียดสีความล้มเหลวของการเปลี่ยนแปลงการปกครองของสหภาพโซเวียต เล่าเรื่องอย่างแยบคาย โดยใช้สัตว์เป็นตัวแทนบุคคลต่าง ๆ ในสังคม ครบเครื่องครบรสด้วยสำนวนภาษาไทยของ "วิเชียร อติชาตการ" ตีพิมพ์ครั้งแรกใน พ.ศ. 2518 ได้รับการพิมพ์ซ้ำเรื่อยมาจวบจนปัจจุบัน ทั้งผ่านการปรับปรุงคำแปลให้ทันสมัยและถูกต้องเที่ยงตรงยิ่งขึ้น ฉบับนี้ยังเสริมด้วยประวัติของผู้ประพันธ์และบทวิเคราะห์เรื่องเพิ่มอรรถรสและความเข้าใจอีกด้วย
ผมไม่รู้ว่าความสัมพันธ์ของคนเขียนหนังสือการเมืองและนักการเมืองในอังกฤษและที่อื่น ๆ ในยุคนั้นเป็นอย่างไรบ้าง แต่ดูท่าออร์เวลล์คงไม่ชอบขี้หน้านักการเมืองในอังกฤษสักเท่าไหร่ ออกจะดูหมิ่นดูแคลนด้วยซ้ำไป แม้ว่าตอนจบของนวนิยายขนาดสั้นนี้จะเป็นเรื่องโศกนาฎกรรม แต่หลายคนก็บอกว่านี่น่จะเป็นชั้นเชิงของผู้แต่ง ที่จะทำให้คนอ่านมีความทรงจำไปอีกยาวนาน ต้องเป็นหนังสือเก่า ๆ แต่น่าอ่านอีกเล่มสำหรับนักการเมืองบ้านเรา ที่เวียนว่ายตายเกิดในการเมืองที่ไม่แตกต่างจากความเป็นไปในฟาร์มของนายโจนส์ ใครสนิทสนมกับหัวหน้าพรรคการเมืองในบ้านเรา จะซื้อหาไปฝากก็ไม่เลวนะครับ
-- วีระ ธีรภัทร --