"โทมัส พิเก็ตตี" ผู้เขียนหนังสือ "ทุนนิยมในศตวรรษที่ 21" เล่มนี้ เป็นนักเศรษฐศาสตร์ชาวฝรั่งเศส เมื่อยังหนุ่มเคยเป็นอาจารย์ที่ MIT อย่างไรก็ตาม เจ้าตัวกลับพูดเองว่า ยิ่งสอนไป ยิ่งทำวิจัยไป ก็ยิ่งรู้สึกว่าตัวเอง "เท้าไม่ติดพื้น" มากขึ้นเรื่อยๆ อยู่แต่ในโลกของทฤษฎีและสูตร "ไม่สัมพันธ์กับโลกที่เราทุกคนอยู่กันจริงๆ" เมื่อเกิดความหงุดหงิดเช่นนั้นขึ้นมาเสียแล้ว พิเก็ตตีจึงพยายามแสวงหาหนทางใหม่ โดยเดินทางกลับมาเป็นอาจารย์ที่ฝรั่งเศส และเริ่มต้นงานชั่วชีวิตที่เขาเห็นว่าเป็นหัวใจสำคัญของวิชาเศรษฐศาสตร์อย่างแท้จริง... พิเก็ตตีศึกษาว่าเพราะอะไรคนเราจึงมีเงินไม่เท่ากัน? ทำไมคนรวยจึงรวย ทำไมคนจนจึงจน? และเงินจะกระจุกตัวอยู่ในมือคนกลุ่มน้อยลงทุกทีไปได้ถึงขนาดไหน? ทำไมจึงเป็นอย่างนั้น ? เราจะแก้ไขอะไรได้ไหม? ทำให้สังคมนี้ดีขึ้น เป็นธรรมขึ้น ให้ทุกคนมีสิทธิมีโอกาสอย่างเท่าเทียมขึ้นในระดับหนึ่งได้ไหม?
เจตนาของพิเก็ตตีในการเขียนหนังสือเล่มนี้คือ เพื่อให้ "ข้อมูล" ว่ามันเกิดอะไรขึ้นกันแน่ กลไกอะไรหรือที่ทำให้คนรวยรวยขึ้นทุกที? เขาเชื่อว่าถ้าหากคนหมู่มากมีข้อมูลที่ถูกต้อง เห็นภาพกว้าง เห็นความเป็นมาเป็นไปของสิ่งต่างๆ อย่างชัดเจน ก็จะเกิดการถกอภิปรายสาธารณะ ซึ่งอาจจะมีส่วนผลักดันให้อะไรๆ เปลี่ยนไปบ้าง พิเก็ตตีไม่ได้ทำสิ่งเหล่านี้ด้วยการตั้งสูตรหรือทฤษฎี แต่ใช้วิธีรวบรวมข้อมูลร่วมกับทีมงานนักวิชาการเป็นเวลา 15 ปี โดยหนังสือเล่มนี้เป็นผลผลิตของการเก็บข้อมูลอันยาวนานแบบลงไปคลุกกันถึงลูกถึงคนจริงๆ ข้อมูลที่รวบรวมมามีทั้งข้อมูลภาษี เงินเดือน รายได้ประชาชาติ ความมั่งคั่ง ผลตอบแทนรายปีของทุน ฯลฯ ทั้งหมดครอบคลุมเวลาสามศตวรรษ (ศตวรรษที่ 18-ต้นศตวรรษที่ 21) และมาจากกว่า 20 ประเทศ เมื่อหาข้อมูลเหล่านี้ได้แล้ว จึงได้ทำการสังเคราะห์ ค้นหาแบบแผนทางประวัติศาสตร์ หาภาพรวมที่แท้จริงว่า "มันเกิดอะไรขึ้นกันแน่" และ "ถ้ามันยังเป็นอย่างนี้ต่อไป อนาคตจะเป็นอย่างไร"
ไม่เคยมีนักเศรษฐศาสตร์คนใดทำอะไรในระดับที่ใหญ่ขนาดนี้ ใช้ข้อมูลมากขนาดนี้ และทุ่มเทเวลาอย่างนี้มาก่อนเลย ถึงแม้จะใช้ข้อมูลฝั่งตะวันตกเป็นหลัก แต่พิเก็ตตีก็ค้นพบเรื่องบางอย่างที่เป็นสากลจริงๆ และประยุกต์ใช้ได้ทั่วไป อีกประการหนึ่ง พิเก็ตตีมีเจตนารมย์จะเขียนหนังสือเล่มนี้ให้เข้าใจง่าย อ่านง่าย ให้คนที่ไม่มีพื้นฐานทางเศรษฐศาสตร์เลยก็อ่านได้ เขาถือว่าคนที่ไม่มีความรู้คือกลุ่มเป้าหมายด้วยซ้ำ เพราะเขาเชื่อว่าการที่ทำให้คนไม่รู้ได้รู้ได้เห็น คือหนทางไปสู่การถกอภิปรายอย่างมีข้อมูลที่ถูกต้อง ซึ่งเป็นรากฐานของประชาธิปไตย การอ่านหนังสือเล่มนี้นอกจากจะช่วยให้เราเข้าใจเรื่องความเหลื่อมล้ำแล้ว ยังเป็นการเปิดโลกใหม่ เหมือนพาเราไปดูโลกที่เราอยู่ในมุมสูงขึ้น ให้เราเข้าใจเรื่องเงินเรื่องทองและความเป็นไปในโลกนี้มากขึ้น พูดอีกอย่างก็คือ พิเก็ตตีประสบความสำเร็จในการทำให้เศรษฐศาสตร์ไม่ใช่เพียงเรื่องทฤษฎีชั้นสูงเข้าใจยาก แต่เป็นเรื่องปากท้องรอบตัวเราจริงๆ
ภาคที่หนึ่ง : รายได้และทุน
1. รายได้และผลผลิต
2. การเติบโต : ภาพมายาและความจริง
ภาคที่สอง : พลวัตอัตราส่วนทุน/รายได้
3. การแปลงโฉมของทุน
4. จากยุโรปเก่าสู่โลกใหม่
5. อัตราส่วนทุน/รายได้ในระยะยาว
6. สัดส่วนทุน-แรงงานในศตวรรษที่ 21
ภาคที่สาม : โครงสร้างของความเหลื่อมล้ำ
7. ความเหลื่อมล้ำกับการกระจุกตัว : ลักษณะเบื้องต้น
8. สองโลก
9. ความเหลื่อมล้ำในแง่รายได้จากแรงงาน
10. ความเหลื่อมล้ำในแงากรรมสิทธิ์ทุน
11. เมื่อความสามารถปะทะกับมรดกในระยะยาว
12. ความเหลื่อมล้ำด้านความมั่นคั่งระดับโลกในศตวรรษที่ 21
ภาคที่สี่ : การจัดระเบียบทุนในศตวรรษที่ 21
13. รัฐสวัสดิการในศตวรรษที่ 21
14. ทบทวนภาษีเงินได้ในอัตราก้าวหน้า
15. การเก็บภาษีทุนในระดับโลก
16. ประเด็นเรื่องหนี้สาธารณะ
หนังสือเล่มนี้ เป็นหนังสือที่ทรงคุณค่ายิ่ง ที่เมื่อได้อ่านแล้วจะเกิดมุมมองใหม่ เกิดแรงบันดาลใจในการต่อสู้แก้ไขหนึ่งปัญหาเศรษฐกิจที่สำคัญที่สุด ซึ่งทุกประเทศทั่วโลกรวมถึงไทยกำลังเผชิญอยู่ ก็คือ "ปัญหาของความเหลื่อมล้ำ" ทั้งทางสังคมและเศรษฐกิจ รวมถึงทำให้เกิดความเข้าใจใหม่ในบทบาทของ "ทุน" ในระบบเศรษฐกิจยุคศตวรรษที่ 21
-- กอบศักดิ์ ภูตระกูล --
ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี
ผมดีใจที่หนังสือเล่มนี้มีการแปลเป็นภาษาไทยให้ผู้อ่านชาวไทยได้เข้าถึง เพราะปัญหาการกระจายในบ้านเราก็ไม่แตกต่างจากปัญหาในระดับสากล ที่ระบบทุนนิยมบวกกับการฉ้อราษฎร์บังหลวงหรือคอร์รัปชันได้สร้างความเหลื่อมล้ำในระบบเศรษฐกิจให้มีมากขึ้น แต่การให้ความสำคัญต่อการกระจายในแง่นโยบายเศรษฐกิจที่จะแก้ไขหรือลดความเหลื่อมล้ำแทบจะไม่มีใครพูดถึง
-- บัณฑิต นิจถาวร --
กรรมการผู้อำนวยการ สมาคมส่งเสริมสถาบันกรรมการบริษัทไทย
อดีตรองผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย
บอกได้เต็มปากเลยว่า ทุนนิยมในศตวรรษที่ 21 ผลงานศิลปะชิ้นเอกเล่มนี้ของโทมัส พิเก็ตตี นักเศรษฐศาสตร์ชาวฝรั่งเศส จะเป็นหนังสือเล่มสำคัญที่สุดของปีนี้ และอาจจะของทศวรรษนี้อีกด้วย
-- พอล ครุกแมน --
New York Times
เป็นหนังสือเศรษฐศาสตร์ที่ชวนให้เฝ้ารอคอยอย่างใจจดใจจ่อที่สุดในรอบหลายปีนี้ทีเดียว
-- โทบี แซงเกอร์ --
Globe and Mail