หนังสือเล่มนี้ได้แบ่งเนื้อหาออกเป็นสองภาค ภาคแรกว่าด้วย "หลักธรรมาภิบาล" ซึ่งอธิบายถึงพัฒนาการของแนวคิดอย่างละเอียด พร้อมทั้งอภิปรายถกเถียงเชิงทฤษฎีอย่างเป็นระบบและครอบคลุมมิติต่างๆ ของหลักธรรมาภิบาล ภาคที่สองว่าด้วย "ความรับผิดชอบทางสังคมขององค์กร" ซึ่งเป็นการพยายามที่จะตอบคำถามที่ว่า องค์การที่แสวงหากำไรและไม่แสวงหากำไรต่างๆ ควรมีความรับผิดชอบต่อสังคมอย่างไร และทำไม? รวมทั้ง สามารถเชื่อมโยงความรับผิดชอบทางสังคมเข้ากับการพัฒนาที่สมดุลและยั่งยืนได้อย่างไร? นอกจากนี้ยังได้กล่าวถึงพัฒนาการทางประวัติศาสตร์ เนื้อหาเชิงทฤษฎี และการประยุกต์ในเชิงปฏิบัติ ในบทสุดท้ายยังได้เชื่อมโยงกับปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง และการพัฒนาที่ยั่งยืนได้อย่างน่าสนใจ
- บทที่ 1 บทนำ
ภาคที่ 1 : หลักธรรมภิบาล
- บทที่ 2 ผลประโยชน์ทับซ้อน ภาคีภิบาล และธรรมาภิบาล
- บทที่ 3 แนวคิดธรรมาภิบาล
- บทที่ 4 ความสำนึกรับผิดชอบ
- บทที่ 5 ความโปร่งใสและการเปิดเผยข้อมูล
ฯลฯ
ภาคที่ 2 : ความรับผิดชอบทางสังคมขององค์กร และการพัฒนา
- บทที่ 9 ความหมาย ความสำคัญ และพัฒนาการของ CSR
- บทที่ 10 ทฤษฎีว่าด้วย CSR
- บทที่ 11 การจำแนกประเภทของ CSR
- บทที่ 12 การนำ CSR ไปปฏิบัติในองค์กร
- บทที่ 13 การทำประโยชน์แก่สังคมของภาคเอกชน (นอกเหนือจาก CSR)
- บทที่ 14 ปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง CSR และการพัฒนาที่ยั่งยืน
สำหรับผู้สนใจในหลักธรรมาภิบาลและความรับผิดชอบต่อสังคม การอ่านหนังสือเล่มนี้เป็นสิ่งที่จำเป็นอย่างมิอาจจะเลยได้ เพราะกอปรไปด้วยคุณค่าทางความคิดและทฤษฎีที่สามารถนำไปเป็นรากฐานของการวิจัยและแนวทางเชิงนโยบาย พร้อมกับข้อเสนอแนะต่าง ๆ ที่สามารถนำไปปฏิบัติได้จริงในองค์การ หนังสือเล่มนี้จึงมีคุณูปการทั้งในทางวิชาการ นโยบาย และการปฏิบัติ อีกทั้งยังเป็นหลักฐานสำคัญของการพัฒนาองค์ความรู้ทางวิชาการ เกี่ยวกับหลักธรรมาภิบาลและความรับผิดชอบต่อสังคมภายในสถาบันการส฿กษาระดับสูงของสังคมไทย
-- รองศาสตราจารย์ ดร.พิชาย รัตนดิลก ณ ภูเก็ต --
คณบดี คณะพัฒนาสังคมและสิ่งแวดล้อม สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์
หลังจากอ่านตำราเล่มนี้เสร็จแล้ว ผมคิดว่ามีภารกิจของผู้ที่ต้องศึกษาเพิ่มเติมเกี่ยวกับทฤษฎีหลักธรรมาภิบาลและความรับผิดชอบทางสังคม เพื่อช่วยพัฒนาองค์ความรู้เกี่ยวกับประเด็นทฤษฎี (Theoretical Issue) นี้ก็คือการค้นคว้าเชื่อมโยงระหว่างแนวคิดดังกล่าวกับทฤษฎีที่เป็นฐานคิด เช่น ฐานคิดทางจริยศาสตร์สำนักต่าง ๆ รากฐานทางปรัชญาการเมือง หรือแม้แต่รากฐานทางปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง เป็นต้น ในขณะเดียวกันก็ควรขยายทฤษฎีในฐานะเครื่องมือปฏิบัติการของแนวคิดหลักธรรมมาภิบาล และความรับผิดชอบทางสังคมให้เป็นรูปธรรมที่ชัดเจนในลักษณะที่เรียกว่า ศาสตร์ว่าด้วยการปฏิบัติ (Praxiology)
-- รองศาสตราจารย์ ดร.ชัยยนต์ ประดิษฐ์ศิลป์ --